ยาดำ คือ อะไร?

Last updated: 6 Mar 2019  |  10488 Views  | 

ยาดำ คือ อะไร?

“ยาดำ” อาจเป็นชื่อยาที่ไม่คุ้นเคยสักเท่าไหร่นัก และหลายคนคงจะตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ยาดำ มันคืออะไร?

แท้จริงแล้วเจ้ายาก้อนแข็งสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ผิวเงามันวาวนี้ คือ ยาสมุนไพรที่ได้จากน้ำยางสีเหลืองของว่านหางจระเข้นั่นเอง

เนื่องจากน้ำยางที่อยู่ในว่านหางจระเข้มีสาร แอนทราควิโนน (Anthraquinone) ทีมีฤทธิ์ช่วยในการขับถ่าย อาทิ อะโลอีโมดิน (aloe-emodin), อะโลซิน (aloesin), อะโลอิน (aloin) ฯลฯ คนจึงนิยมนำน้ำยางนี้มาทำ “ยาดำ” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะ และโลหิต ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซร้ท้อง หรืออาจใช้ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวมได้

 โดยวิธีการทำ ยาดำ นิยมเลือกว่านหางจระเข้สายพันธ์ุที่มีกาบใหญ่ อายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป ใช้มีดตัดบริเวณส่วนโคนของใบ แล้วนำไปใส่ภาชนะรองน้ำยางสีเหลืองที่ไหลออกมา จากนั้นนำน้ำยางที่ได้เคี่ยวด้วยไฟอ่อนเพื่อระเหยน้ำออก จนน้ำยางเหนียวข้น แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จนกลายเป็นก้อนแข็งสีดำ ที่มีกลิ่นและรสขม ชวนคลื่นไส้ อาเจียน

สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะนำยาดำไปใช้ ให้นำไป “สะตุ” ก่อน เพื่อทำให้ยาสะอาดขึ้น และเพื่อลดฤทธิ์ยาให้อ่อนลงด้วย เนื่องจากยาดำ นี้หากรับประทานมากเกินไป จะทำให้ท้องเสีย และปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะลำไส้บิดเกร็งตัว จนมีอาการอ่อนเพลีย ไตอักเสบ และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ฉะนั้นจึงห้ามใช้กับผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร และหญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะอาจทำให้แท้งได้

วิธีการสะตุยาดำ คือ นำยาดำไปตำให้ละเอียดเป็นผงจากนั้นนำกระทะตั้งเตาจนร้อน ค่อยๆ โรยยาดำลงในกระทะ แล้วใส่น้ำเล็กน้อย เมื่อกระทะร้อนจะสังเกตได้ว่ายาดำจะเดือด และกลายเป็นยางเหนียวๆ รอดูจนน้ำค่อยๆ แห้ง จึงขูดเอายาดำออกจากกระทะ เก็บไว้ทำยา

ยาดำที่ผ่านการสะตุจะมีความเงาลดลง จับตัวเป็นก้อน และน้ำหนักเบา ส่วนใหญ่เรามักพบยาดำแทรกอยู่ในยาระบายหลายตำรับ จนกระทั่งมีคำพังเพยว่า “แทรกเป็นยาดำ” หมายถึงแทรกหรือปนอยู่ทั่วไปนั่นเอง

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy